อาหารพืชและความผิดปกติของการขาดอาหาร

      ปิดความเห็น บน อาหารพืชและความผิดปกติของการขาดอาหาร
NPK

หากพูดถึงอาหารไม่ว่าจะเป็นคน หรือพืชก็มีความต้องการเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เวลาที่เราปลูกต้นไม้ตามบ้านเรือน เราก็แค่ใส่ปุ๋ยสูตรที่ขาย ๆ กัน หลาย ๆ ท่านอาจไม่รู้เลยว่านอกจากปุ๋ยที่เราใส่กันแล้วยังมีธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริมสำหรับพืชอีก จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าอาหารของพืชคืออะไร วันนี้ผมจะพาทุกท่านมารู้จักกับอาหารของพืชแบบ คร่าว ๆ และวิธีสังเกตุอาการผิดปกติของการขาดอาหารกันนะครับ อาหารของพืชแบ่งเป็น 3 อย่างเดียวกัน คือ ธาตุอาหารหลัก , ธาตุอาหารรอง และ ธาตุอาหารเสริม

ธาตุอาหารหลัก

  • ไนโตรเจน (N)
  • ฟอสฟอรัส (P)
  • โพแทสเซียม (K)

ธาตุอาหารรอง

  • แคลเซียม (Ca)
  • แมกนีเซียม (Mg)
  • กำมะถัน (S)

ธาตุอาหารเสริม

  • เหล็ก (Fe)
  • แมงกานีส (Mn)
  • โบรอน (B)
  • โมลิบดินัม (Mo)
  • ทองแดง (Cu)
  • สังกะสี (Zn)
  • คลอรีน (Cl)

ธาตุอาหารหลัก

เป็นแร่ธาตุที่มีความจำเป็นของพืช และเป็นธาตุอาหารที่เราคุ้นหูกันดีก็ได้แก่ N P K นั่นเอง หรือปุ๋ยเคมีถุงทั่วไป แต่เรารู้หรือไม่ว่า ธาตุอาหารแต่ละตัวมีความสำคัญอย่างไร

  • ไนโตรเจน (N) มีหน้าที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน ช่วยให้พืชมีสีเขียว เร่งการเจริญเติบโตทางใบ ส่วนใหญ่เราก็จะคุ้นว่า N สูงคือเร่งใบนั่นเอง
    หากพืชขาดธาตุนี้ จะมีอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กลง ลำต้นแคระแกร็น และส่งผลให้ผลผลิตต่ำ
  • ฟอสฟอรัส (P) มีหน้าที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของราก ควบคุมการออกดอก ออกผล และการสร้างเมล็ด หรืออย่างที่เราคุ้นหูกันดีปุ๋ยตัวกลางสูง เร่งดอก
    หากพืชขาดธาตุนี้
    ระบบรากจะไม่เจริญเติบโต ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วง แล้วกลายเป็นสีน้ำตาล และหลุดร่วง ลำต้นแกร็น ไม่ผลิดอกออกผล
  • โพแทสเซียม (K) เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากใบไปสู่ผล ช่วยให้ผลเติบโตเร็วและมีคุณภาพดี ช่วยให้พืชแข็งแรง ต้านทานต่อโรคและแมลงบางชนิด หรืออย่างที่เราคุ้นหูกันดีว่าปุ๋ยตัวท้ายสูงเร่งผล แต่แท้จริงแล้วคือการสร้างแป้งส่งไปให้ผลนั่นเอง และเป็นการสร้างความหวานให้กับผลไม้
    หากพืชขาดธาตุนี้ พืชจะไม่แข็งแรง ลำต้นอ่อนแอ ผลไม่เติบโต มีคุณภาพต่ำ สีไม่สวย รสชาติไม่ดี

ธาตุอาหารรอง

ธาตุอาหารรอง จะไม่ค่อยมีปัญหาขาดแคลนในดินทั่ว ๆ ไป โดยปกติเมื่อมีการใส่ปุ๋ย N P K ลงไปในดินมักจะมีธาตุเหล่านี้ปนลงไปด้วยเสมอ แต่เราก็สามารถสังเกตุและควรรู้ไว้ก็ดีนะครับ

  • แคลเซียม (Ca) เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ด
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ใบที่ผลิออกมาใหม่จะหงิกงอ ตายอดไม่เจริญ อาจมีจุดดำที่เส้นใบ รากสั้น ผลแตก และมีคุณภาพไม่ดี
  • แมกนีเซียม (Mg) เป็นองค์ประกอบสำคัญของคลอโรฟิลล์ ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดด่างในเซลล์พอเหมาะ และช่วยในการงอกของเมล็ด
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ใบแก่จะเหลือง ยกเว้นเส้นใบ และใบจะร่วงหล่นเร็ว
  • กำมะถัน (S) เป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน โปรตีน และวิตามิน
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ทั้งใบบนและใบล่าง จะมีสีเหลืองซีด และต้นอ่อนแอ

ธาตุอาหารเสริม

เป็นธาตุอาหารที่พืขต้องการใช้ในปริมาณน้อย แต่ถึงอย่างไรก็มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่น้อยไปกว่ากันนะครับ

  • โบรอน (B) ช่วยในการออกดอกและการผสมเกสร มีบทบาทสำคัญในการติดผลและการเคลื่อนย้ายน้ำตาลมาสู่ผล การเคลื่อนย้ายของฮอร์โมน การใช้ประโยชน์จากไนโตรเจนและการแบ่งเซลล์
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะตายแล้วเริ่มีตาข้าง แต่ตาข้างก็จะตายอีก ลำต้นไม่ค่อยยึดตัว กิ่งและใบจึงชิดกัน ใบเล็ก หนาโค้งและเปราะ
  • ทองแดง (Cu) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและแป้ง กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ตายอดจะชะงักการเจริญเติบโตและกลายเป็นสีดำ ใบอ่อนเหลือง และพืชทั้งต้นจะชะงักการเจริญเติบโต
  • คลอรีน (Cl) มีบทบาทบางประการเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ พืชจะเหี่ยวง่าย สีใบซีด และบางส่วนแห้งตาย
  • เหล็ก (Fe) ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสงและหายใจ
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ใบอ่อนจะมีสีขาวซีดในขณะที่ใบแก่ยังเขียวสด
  • แมงกานีส (Mn) ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ใบอ่อนจะมีสีเหลืองในขณะที่เส้นใบยังเขียว ต่อมาใบที่มีอาการดังกล่าวจะเหี่ยวแล้วร่วงหล่น
  • โมลิบดินัม (Mo) ช่วยให้พืชใช้ไนโตรเจนให้เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีน
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ พืชจะมีการอาการคล้ายขาดไนโตรเจน ใบมีลักษณะโค้ง คล้ายถ้วย ปรากฏจุดเหลือง ๆ ตามแผ่นใบ
  • สังกะสี (Zn) ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน คลอโรฟิลล์และแป้ง
    ถ้าพืชขาดธาตุนี้ ใบอ่อนมีสีเหลืองซีดและปรากฏสีขาว ๆ ประปรายตามแผ่นใบ โดยเส้นใบยังเขียว รากสั้นไม่เจริญตามปกติ

เมื่อมีการปลูกพืชลงบนดิน ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของธาตุอาหารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในดิน เนื่องจากในขณะที่พืชมีการเจริญเติบโต พืชจะดูดดึงธาตุอาหารในดินไปใช้และเก็บสะสมไว้ในส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ใบ ลำต้น ดอก ผล และยิ่งปลูกในกระถางหรือในวงบ่อซีเมนต์แล้ว แร่ธาตุที่มีอยู่ในดิน ย่อมหมดไปเราจึงต้องมั่นให้ปุ๋ย และดูแลสภาพต้นไม้ที่เราปลูกด้วย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ สำหรับการดูแลและรักษาต้นไม้ที่เรารัก

** เนื้อหาในบทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือให้ความรู้เรื่อง ดิน สำหรับเยาวชน ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2

Print Friendly, PDF & Email